พื้นที่เทศบาลตำบลทะเมนชัยในทุกหมู่บ้านจะมีศาลเจ้าที่ ซึ่งประชาชนในชุมชนนั้นๆ ให้การเคารพนับถืออยู่ แต่หากมองภาพรวมในตำบลทะเมนชัย “ศาลเจ้าพ่อหินตั้ง” นับได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวในศาลที่ประชาชนทั้งตำบล รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงให้การเคารพนับถือมากที่สุด ด้วยความที่มีประวัติเล่าลือกันมารุ่นต่อรุ่น ถึงตำนาน ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ที่เลื่องลือของศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานนับร้อยปี

        โดยใน 1 ปี จะมีงานประจำปีศาลเจ้าพ่อ 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จำนวน 2 คืน กิจกรรมในช่วงนี้จะมีขบวนแห่เจ้าพ่อหินตั้ง เจ้าพ่อไฟ และเจ้าพ่อศาลตาปู่มาที่บริเวณเต้นท์จัดงานหน้าตลาดทะเมนชัยในช่วงกลางวัน มีการกราบไหว้ขอพรของห้างร้านต่างๆ ช่วงหัวค่ำจะมีงานเลี้ยงโต๊ะจีน มีการประมูลสิ่งของเพื่อหารายได้เข้ากองทุนของศาลเจ้าพ่อ โดยจะมีเถ่านั้ง ผู้ที่เป็นหัวเรือหรือหัวหน้าในการจัดงานแห่เจ้า ซึ่งก็ประกอบด้วยพ่อค้า แม่ค้าจากร้านต่างๆ ในตำบลรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมโดยจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในทุกๆ ปี มีการแสดงลิเก ร้านค้า ตลอดจนซุ้มเครื่องเล่นต่างๆ

          ไฮไลท์ในแต่ละปีจะอยู่ที่การประมูลต้นไผ่ทีกงเต็ง(ต้นไผ่ประดับโคมบูชาเทพยดาฟ้าดิน ภายหลังก็ประดับดวงไฟหลากสีไปด้วยเพื่อความสวยงาม ซึ่งจะมีอยู่เพียงต้นเดียวของงาน ตั้งอยู่ที่แท่นบูชาเทพยดาฟ้าดินของงานพิธีศาลเจ้า โดยจะมีการคัดเลือกต้นไผ่ที่มีทรงตรง ใบพุ่มสวยได้ที่ นับจำนวนปล้องไผ่ตามความสูง ก่อนตัดก็ต้องมีการไหว้บูชา บอกกล่าวเสียก่อน เพราะถือเป็นของมงคล ตัวเทนสื่อถึงเทพยดาชั้นสูง ที่ผ่านมาราคาที่สู้กันนั้นตั้งแต่หลักหมื่น จนถึงเกือบแสนบาท ตามความเชื่อผู้ประมูลได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวจีนที่ประกอบกิจการค้าและอาจขอเรื่องกิจการค้าเอาไว้ เมื่อค้าขายได้ผลประกอบการดี ก็มาแข่งราคากันประมูลเพื่อทำบุญเข้าศาลเจ้า และเมื่อประมูลได้แล้ว หลังเสร็จงานก็จะมีเจ้าหน้าที่ของศาลเจ้าจัดขบวนแห่ไปส่ง และติดตั้งให้ที่บ้านหรือร้านค้าอย่างเรียบร้อย

          ครั้งที่สอง ช่วงวันสงกรานต์ในเดือนเมษายนของทุกปีจะมีเทศกาลลิเกแก้บนศาลเจ้าพ่อหินตั้ง โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่การทำความสะอาดศาลล่วงหน้าก่อนวันจัดงานของทุกปี ซึ่งมีการกำหนดให้ทุกวันที่13 เมษายน ของทุกปีเป็นการจัดงานวันแรก โดยชาวบ้านร้านตลาดทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุจะช่วยกันนำทุกสิ่งที่อยู่ภายในศาลมาทำความสะอาด ไม่ว่าจะเป็นพวงมาลัย รูปปั้นช้างม้า ผ้าแพรหลากสี อาวุธ ฯลฯ มีขบวนแห่เจ้าพ่อไฟ และเจ้าพ่อศาลตาปู่มาที่บริเวณศาลเจ้าพ่อเพื่อร่วมชมงาน โดยในแต่ละปีจำนวนวันจัดงานจะไม่เท่ากันแล้วแต่ว่าปีนั้นๆ จะมีผู้ที่มาบนกับเจ้าพ่อมากน้อยเพียงใด แต่คืนแรกจะเป็นลิเกของศาลเจ้าพ่อเอง คืนถัดไปถึงเป็นการแก้บน ซึ่งที่ผ่านมามีตั้งแต่ 2-7 คืนกันเลยทีเดียว โดยช่วงเช้าของวันที่ 14 จะมีกิจกรรมตักบาตรร่วมกันที่ศาลเจ้า รวมถึงการสรงน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาร่วมงาน เมื่อก่อนจะมีการเข้าทรงด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว นอกจากการแสดงลิเกในช่วงค่ำคืน ยังมีการสรงน้ำเจ้าพ่อ โดยแต่ละครอบครัวจะมีการเตรียมน้ำอบมาเพื่อปะพรมไปที่หินตั้ง มีการกราบไหว้ขอพรจากลูกหลานที่กลับมาบ้านในช่วงทศกาลสงกรานต์ มีการออกร้านของประชาชน ทั้งร้านอาหาร เครื่องดื่ม ซุ้มเกมต่างๆ และเมื่อกิจกรรมการแสดงแก้บนในวันสุดท้ายจบลงจะมีการจัดขบวนแห่ส่งเจ้าพ่อที่ได้รับมาในวันแรก โดยประชาชนที่อยู่ระหว่างทางสามารถสาดน้ำใส่ขบวนรถแห่ ซึ่งถือเป็นการสรงน้ำเจ้าพ่อด้วย